รู้ก่อนปลอดภัยกว่า กฎหมายป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์
ในปัจจุบันเรามักจะเห็นข่าวการก่ออาชญากรรม เช่น การหลอกให้โอนเงิน การขโมยข้อมูลเพื่อนำไปเปิดบัญชีหรือหลอกให้เปิดบัญชีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า “การก่ออาชญากรรมไซเบอร์” โดยก่อนหน้านี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย จึงไม่สามารถเอาผิดกับอาชญากรได้ แต่ตอนนี้ได้มีพระราชกำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีการขอความร่วมมือจากธนาคาร และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเงินต่างๆ เพื่อลดการเกิดอาชญากรรม และป้องกันความปลอดภัยให้กับประชาชน
พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ได้ให้ความหมายคำว่า Cybercrime หรือ อาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งหมายถึง การกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ระบุว่า การฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดทรัพย์จากคนใดคนหนึ่ง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรม ถือเป็นความผิดอย่างหนึ่ง
ประเทศไทยได้มีการขอความร่วมมือกับธนาคารและแพลตฟอร์มการเงินต่างๆ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นใหม่ ว่าด้วยเรื่องการต่อต้านอาชญากรรมทางไซเบอร์และการฉ้อโกง พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566 และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป (17 มีนาคม 2566) พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนี้ เป็นเครื่องมือกฎหมายใหม่ที่ช่วยขัดขวางกระบวนการฟอกเงินและมุ่งหวังที่จะระงับผู้กระทำอาชญากรรมทางไซเบอร์และนักต้มตุ๋น โดยจะทำหน้าที่จัดการกับผู้กระทำผิดทั้งก่อนและหลังที่มีการปล่อยกฎหมายใหม่ออกมา
กฎหมายใหม่นี้ ให้สิทธิ์แก่เหยื่อในการส่งคำร้องแก่ธนาคารและแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ ให้ระงับการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยและผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังกำหนดให้ธนาคารและแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ รวมถึงผู้ให้บริการอื่นๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันและปราบปราม อาชญากรรมไซเบอร์ อย่างรวดเร็ว
สิทธิหน้าที่และข้อบังคับเมื่อกระทำความผิด ที่ระบุในพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ผู้เสียหายสามารถยุติการทำธุรกรรมชั่วคราวได้
พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 บังคับให้ธนาคารและแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ ให้ความช่วยเหลือด้านการยุติการทำธุรกรรมที่เป็นความเสี่ยงต่อการเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งผู้เสียหายสามารถรายงานการทำธุรกรรมผิดกฎหมายผ่านทางออนไลน์หรือสามารถยื่นแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และธนาคารหรือแพลตฟอร์มการเงินต้องเก็บบันทึกสายทางโทรศัพท์
โดยผู้เสียหายต้องยื่นแจ้งความกับตำรวจ เรื่องการทำธุรกรรมผิดกฎหมายภายใน 72 ชั่วโมง หลังทำการอายัดบัตร หรือยุติธุรกรรม ซึ่งตำรวจจะตรวจสอบและแจ้งธนาคารหรือแพลตฟอร์มธุรกรรมให้ทราบเรื่องคำร้องเรียน และการอายัดจะต้องดำเนินการเก็บรักษาไว้เป็นเวลา 7 วัน นับจากวันที่ยื่นแจ้งความ โดยการตรวจสอบว่ามีความจำเป็นต้องอายัดหรือยุตินานกว่า 7 วันหรือไม่ หากครบกำหนด 7 วัน โดยไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการอายัดเพิ่มเติมจึงสามารถยกเลิกการทำธุรกรรมได้
นอกจากนี้ ธนาคารและแพลตฟอร์มทำธุรกรรมออนไลน์ต้องทำการอายัดหรือยุติการทำธุรกรรมที่สงสัยว่าผิดกฎหมายเป็นเวลา 7 วัน และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารและแพลตฟอร์มการเงินอื่นๆ หากเจ้าหน้าที่ไม่ตอบกลับ จะมีคำสั่งให้ดำเนินการอายัดต่อ ซึ่งธนาคารหรือแพลตฟอร์มจะต้องยกเลิกการยึดการทำธุรกรรมหลังจากผ่านไป 7 วัน
ธนาคารและแพลตฟอร์มการเงินต้องให้ความร่วมมือ ในการเปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้สอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์
พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ได้มอบอำนาจให้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(AMLO) ให้สามารถออกคำสั่งเรียกผู้ให้บริการโทรคมนาคมและบริการอื่นๆ ให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมไซเบอร์ และข้อมูลติดต่อสื่อสารในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาใช้ในการสืบสวน
ข้อกฎหมายและบทลงโทษเมื่อมีการกระทำผิด
- มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยไม่มีเจตนาใช้เพื่อตนเองหรือเพื่อกิจการที่เกี่ยวข้องกับตนเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเอง ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือกระจายข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในปัจจุบันมีคดีการก่ออาชญากรรมไซเบอร์มากกว่า 2 แสนคดี มีผู้ถูกหลอกลวงเป็นจำนวนมากต่อวัน นับเป็นมูลค่าความเสียหายที่สูงมากทีเดียว อย่างไรก็ดี เมื่อมีพระราชกำหนดฉบับนี้เผยแพร่และบังคับใช้โดยทั่วกันแล้ว ประชาชนทั่วไปควรต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนเพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอกใช้ข้อมูลส่วนตัว และเป็นการปกป้องสิทธิของตนเอง
TechSpace ขอเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ ด้วยการรวบรวมเบอร์ติดต่อสำหรับรับแจ้งเหตุของแต่ละธนาคารเอาไว้ ซึ่งสามารถโทรแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากต้องการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส สามารถแจ้งได้ที่
รวมเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน สอบถาม และแจ้งเหตุได้ ตลอด 24 ชั่วโมง
- ธนาคารกสิกรไทย: 0-2888-8888 กด 001
- ธนาคารกรุงไทย: 0-2111-1111 กด 108
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา: 1572 กด 5
- ธนาคารกรุงเทพ: 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3
- ธนาคารไทยพาณิชย์: 02-777-7575
- ธนาคารทหารไทยธนชาต: 1428 กด 03
- ธนาคารออมสิน: 1115 กด 6
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย: 0-2626-7777 กด 00
- ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย: 0-2697-5454
- ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์: 0-2359-0000 กด 8
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์: 0-2645-9000 กด 33
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร: 0-2555-0555 กด *3
- ธนาคารยูโอบี: 0-2344-9555
- ธนาคารซิตี้แบงก์: 0-2344-9555
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร: 0-2165-5555 กด 6
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 16 มีนาคม 2566